บุญบั้งไฟ นิยมทำกันในเดือนหก ถือเป็นประเพณีสำคัญที่จะขาดไม่ได้ เพราะตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน ชาวอีสานมีความเชื่อว่า ถ้าปีใดไม่จัดงานบุญบั้งไฟ ฟ้าฝนก็จะไม่ตกต้องตามฤดูกาล เกิดความแห้งแล้ง ไม่มีน้ำทำนา แต่ถ้าปีใดจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟ ฟ้าฝนก็จะตกต้องตามฤดูกาล เกิดความอุดมสมบูรณ์ ปราศจากโรคภัย งานบุญบั้งไฟจึงถือเป็นงานประเพณี ประจำปีที่สำคัญของชาวอีสาน พอใกล้ถึงวันงานชาวอีสานไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็จะกลับบ้านไปร่วมงานบุญบั้งไฟ ซึ่งเป็นงานที่สร้างความรักความสามัคคีของคนท้องถิ่นเป็นอย่างดี


รูปแบบงานบุญบั้งไฟ


         ในวันนี้ ประเพณีบุญบั้งไฟ แบ่งงานออกเป็นงานใหญ่ ๆ สองงานด้วยกันคือวันแรก เริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ 10.00 น. เป็นขบวนแห่บั้งไฟสวยงามไปตามถนนสายหลักใจกลางเมือง
         ในวันนี้ชาวบ้านจากคุ้มต่าง ๆ จะนำบั้งไฟขึ้นขบวนรถที่ตกแต่งประดับประดาอย่างสวยงามเป็นลวดลายไทยงามวิจิตร นำแห่แหนด้วยขบวนรำประกอบดนตรีพื้นเมือง บนขบวนรถบางทีจะเป็นธิดาบั้งไฟโก้ เทพบุตรเทพธดาตัวน้อย ๆ หรือแม้กระทั่งเรื่องราวจำลองจากนิยายพื้นบ้านปรัมปรา เช่นเรื่องท้าวผาแดง นางไอ่ เป็นต้น นอกจากนี้ที่จะขาดไม่ได้ก็คือขบวนรีวิวประเภทเนื้อหาสาระและตลกขบขันต่าง ๆ ที่เปิดโอกาสให้ชาวเมืองที่ต่างอายุกันได้มีโอกาสเข้าร่วมงานอย่างเสมอหน้าและ มาประกวดประชันกันอย่งสนุกสนาน
         ส่วนวันที่สองเริ่มแต่เช้าที่สวนพญาแถนเป็นการประกวดการจุดบั้งไฟ มีการประกวดบั้งไฟขึ้นสูงแบะยั้งไฟแฟนซีต่าง ๆ ในขณะที่ชาวบ้านชาวคุ้มต่าง ๆ ก็จะยกขบวนออกร้องรำทำเพลงกันตลอดทั้งวันอย่างสนุกสนาน

 จุดเด่นของพิธีกรรม


         จุดเด่นของการชมประเพณีบุญบั้งไฟ อยู่ที่ช่วงเช้าของวันแรกคือวันแห่บั้งไฟสวยงาม สามารถชมได้ที่ปะรำพอธีถนนใจกลางเมือง และช่วงเช้าวันที่สอง คือการจุดบั้งไฟขึ้นสูงที่สวนสาธารณะพญาแถน

 ตำนาน



         ประเพณีบุญบั้งไฟตามตำนานเล่าว่า เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าถือชาติกำเนิดเป็นพญาคางคก ได้อาศัยอยู่ใต้ร่มโพธิ์ใหญ่ในเมืองพันทุมวดี ด้วยเหตุใดไม่แจ้ง พญาแถนเทพเจ้าแห่งฝนโกรธเคืองโลกมนุษย์มาก จึงแกล้งไม่ให้ฝนตกนานถึง 7 เดือน ทำให้เกิดความลำบากยากแค้นอย่างแสนสาหัสแก่มวลมนุษย์ สัตว์และพืช จนกระทั่งพากันล้มตายเป็นจำนวนมาก พวกที่แข็งแรงก็รอดตายและได้พากันมารวมกลุ่มใต้ต้นโพธิ์ใหญ่กับพญาคางคก สรรพสัตว์ทั้งหลายจึงได้หารือกันเพื่อจะหาวิธีการปราบพญาแถน ที่ประชุมได้ตกลงกันให้พญานาคียกทัพไปรบกับพญาแถน แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ จากนั้นจึงให้พญาต่อแตนยกทัพไปปราบแต่ก็ต้องพ่ายแพ้อีกเช่นกัน ทำให้พวกสรรพสัตว์ทั้งหลายเกิดความท้อถอย หมดกำลังใจและสิ้นหวัง ได้แต่รอวันตาย


         ในที่สุด พญาคางคกจึงขออาสาที่จะไปรบกับพญาแถน จึงได้วางแผนในการรบโดยปลวกทั้งหลายก่อจอมปลวกขึ้นไปจนถึงเมืองพญาแถน เพื่อเป็นเส้นทางให้บรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลายได้เดินทางไปสู่เมืองพญาแถน ซึ่งมีมอด แมลงป่อง ตะขาบ สำหรับมอดได้รับหน้าที่ให้ทำการกัดเจาะด้ามอาวุธที่ทำด้วยไม้ทุกชนิด ส่วนแมลงป่องและตะขาบให้ซ่อนตัวอยู่ตามกองฟืนที่ใช้หุงต้มอาหาร และอยู่ตามเสื้อผ้าของไพร่พลพญาแถนทำหน้าที่กัดต่อย หลังจากวางแผนเรียบร้อย กองทัพพญาคางคกก็เดินทางเพื่อปฏิบัติหน้าที่การรบ มอดทำหน้าที่กัดเจาะด้ามอาวุธ แมลงป่องและตะขาบกัดต่อยไพร่พลของพญาแถนจนเจ็บปวด ร้องระงมจนกองทัพระส่ำระสาย ในที่สุดพญาแถนจึงได้ยอมแพ้และตกลงทำสัญญาสงบศึกกับพญาคางคก ดังนี้
         1. ถ้ามวลมนุษย์จุดบั้งไฟขึ้นสู่ท้องฟ้าเมื่อใด ให้พญาแถนสั่งให้ฝนตกในโลกมนุษย์
         2. ถ้าได้ยินเสียงกบ เขียดร้อง ให้รับรู้ว่าฝนได้ตกลงมาแล้ว
         3. ถ้าได้ยินเสียงสนู (เสียงธนูหวายของว่าว) หรือเสียงโหวด ให้ฝนหยุดตกเพราะจะเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวข้าว หลังจากที่ได้สัญญากันแล้ว พญาแถนจึงได้ถูกปล่อยตัวไปและได้ปฏิบัติตามสัญญามาจนบัดนี้

 สัญลักษณ์


         บุญบั้งไฟเป็นหนึ่งในฮีตสิบสองเดือนของชาวอีสานนิยมทำกันในเดือน 6 หรือเดือน 7 อันเป็นช่วงฤดูฝนเข้าสู่การทำนา ตกกล้า หว่าน ไถ เพื่อเป็นการบูชาแถนขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล เหมือนกับการแห่นางแมวของคนภาคกลาง
         ในสองพิธีกรรมที่อยู่คนละภาคนี้มีความคล้ายคลึงกันในเรื่องของสัญลักษณ์ที่ใช้อันส่อไปทางเพศสัมพันธ์ เช่น การใช้ไม้มาแกะสลักเป็นอวัยวะเพศชายเรียกว่า "บักแบ้น" หรือ "ปลัดขิก" ในอีสานหรือ "ขุนเพ็ด" ใน]]ภาคกลาง]]เข้าร่วมขบวนแห่ ทั้งยังมีการร้องเซิ้งด้วยเนื้อหาที่เกี่ยวกับอวัยวะเพศและเพศสัมพันธ์ สัญลักษณ์นี้เป็นเครื่องหมายของความสัมพันธ์ระหว่างฟ้ากับดิน หญิงกับชาย ที่เป็นพลังก่อกำเนิดชีวิตและเป็นพลังแห่งความอุดมสมบูรณ์ จึงมีความสัมพันธ์กับการขอฝนซึ่งเป็นที่มาของพลังแห่งการเติบโตของพืช และด้วยเหตุที่อวัยวะเพศและเพศสัมพันธ์เป็นสัญลักษณ์สำคัญของงานบุญ จึงถือว่างานบุญบั้งไฟเป็นงานบุญของพระยามาร ซึ่งจัดแข่งกับงานบุญของพระพุทธเจ้า

 วัตถุประสงค์การจัดงานบุญบั้งไฟ


         1. เป็นการบูชาพระธาตุเกศแก้วจุฬมณีบนสวรรค์
         2. เป็นการขอฝน

 ขนาดการทำบั้งไฟ


         ก. บั้งไฟร้อย มีน้ำหนักดินปืนหรือดินดำประมาณ 3 ก.ก.
         ข. บั้งไฟหมื่น มีน้ำหนักดินปืนหรือดินดำประมาณ 12 ก.ก.
         ค. บั้งไฟแสน มีน้ำหนักดินปืนหรือดินดำประมาณ 120 ก.ก.
         ง. บั้งไฟล้าน มีน้ำหนักดินปืนหรือดินดำประมาณ 500 ก.ก.

 ขั้นตอนการจัดการประเพณีบุญบั้งไฟ


         ประชุมชาวบ้าน ผู้เฒ่าผู้แก่พระสงฆ์ในหมู่บ้านเพื่อขอความเห็นว่าจะจัดงานบุญบั้งไฟหรือไม่ ถ้าตกลงจัดก็จะทำในข้อถัดไป แต่ถ้าไม่จัดจะต้องส่งตัวแทน (ผู้มีอายุชายในหมู่บ้าน) และพ่อเฒ่าจ้ำ (หมอผีประจำหมู่บ้าน) ไปขอขมาต่อเจ้าปู่เพื่อขอเลื่อนไปจัดในปีถัดไป (พิธีกรรมนี้ไม่มีผู้หญิงเกี่ยวข้อง)


         เมื่อตกลงจัดผู้เฒ่าผู้แก่ของหมู่บ้านจะส่งข่าวบอกกล่าวเชื้อเชิญไปยังหมู่บ้านใกล้เคียงให้มาร่วมงานบุญ เรียกว่า "เตินป่าว" ในสมัยถัดมาบ้านเมืองเจริญขึ้นก็พัฒนามาเป็นการแจกหนังสือเชิญชวนเรียกว่า "สลากใส่บุญ" เหตุที่ถือว่างานนี้เป็นงานบุญก็เพราะว่า วัดเป็นที่รวมของการจัดกิจกรรมของชุมชน การเตรียมการต่างๆ ตั้งแต่การทำบั้งไฟก็มักจะเริ่มจากพระ ซึ่งถือว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ เป็นฉบับ (ต้นฉบับ) ในวาระโอกาสนี้ยังมีการแทรกประเพณีทางพุทธศานาเข้าไปด้วย เช่น การบวชและการฮดสงฆ์ อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง กองฮด พิธีการในการยกย่องพระสงฆ์


         ชาวบ้านจะเรี่ยไรเงินและสิ่งของตามศรัทธาเพื่อร่วมสมทบกันสร้างบั้งไฟ (ในสมัยโบราณจะทำเพียงบั้งเดียว) บอกบุญให้บ้านเรือน 3-4 หลังคารวมกันต้อนรับแขกจากต่างบ้านที่มาร่วมบ้านหนึ่ง (ซึ่งจำนวนไม่มากนักจะมาพร้อมบั้งไฟของหมู่บ้าน เช่น พระภิกษุ สามเณร หญิงชายที่มาร่วมขบวนแห่) ส่วนใหญ่ก็มักจะกำหนดให้ครอบครัวที่บวชลูกหลานเป็นเจ้าภาพ (เพราะต้องจัดงานเลี้ยงญาติพี่น้องอยู่แล้ว)
         ชาวบ้านที่ได้รับมอบหมายจะสร้างปะรำ หรือ "ผาม" หรือ "ตูบบุญ ซึ่งทำด้วยโครงไม้จริง ยกพื้นข้างบนให้พระสงฆ์นั่งฉันภัตาหาร ส่วนข้างล่างปูด้วยใบไม้หรือฟางข้าวให้หญิงสาวนั่ง โดยมีหญิงสูงอายุควบคุมดูแลหญิงสาวเหล่านี้ เพื่อป้องกันมิให้ถูกชายในขบวนเซิ้งลวนลามจนเกินเหตุ


         ในวัดจะมีการทำบั้งไฟโดย "ฉบับ" ซึ่งมักจะเป็นพระ โดยมีลูกมือคือชาวบ้านผู้ชาย ในสมัยผมยังเป็นเด็ก 20 กว่าปีผ่านมาแล้ว ผมก็เป็นลูกมือพระด้วยการไปหาไม้สำหรับมาเผาเป็นถ่านสำหรับคั่วผสมกับดินประสิวเรียกว่า การทำหมื่อ ซึ่งมีสูตรจำเพาะของช่างแต่ละคน ตำด้วยครกมองให้ละเอียดร่วน ทดสอบด้วยการนำมาโรยเป็นทางยาวแล้วจุดไฟดูความเร็วของการปะทุ หากปะทุช้าก็จะต้องใช้สูตรผสมใหม่ตามแต่ต้นฉบับจะกำหนดบอกมา
การทำบั้งไฟในสมัยก่อนจะใช้ไม้ไผ่ลำขนาดใหญ่ที่สุด ทะลวงปล้องให้ถึงกัน ภายนอกจะใช้ตอกไม้ไผ่ถักเป็นเชือกมัดรอบลำไผ่ให้แน่นเพื่อไม่ให้ลำไผ่แตก ส่วนหัวปล้องสุดท้ายจะถูกอุดด้วยแผ่นไม้หนาพอควร แล้วทำการอัดบรรจุหมื่อ (ดินปืน) ให้แน่นด้วยการตำ หรือใช้คานดีดคานงัด (สมัยใหม่ใช้แม่แรงยกล้อรถบรรทุกแทนสะดวกกว่ากันดังภาพซ้ายมือ)
 

         ยุคสมัยเปลี่ยนไปจากลำไผ่กลายมาเป็นท่อเหล็กหรือท่อประปา (ซึ่งอันตรายมากเมื่อมีการระเบิดใส่ผู้คนอย่างที่เป็นข่าว) ตอนหลังหันมาใช้ท่อพีวีซีแทนซึ่งก็ยังเป็นอันตรายอยู่ดี จากการบูชาแถนมาเป็นการพนันขันต่อเพื่อการเดิมพัน จำนวนบั้งไฟที่จุดในแต่ละที่จึงมีจำนวนมาก และสร้างความเสียหายต่อชุมชนในทิศที่บั้งไฟถูกจุดออกไป (เพราะสามารถไปไกลได้หลายสิบกิโลเมตร)
         นอกจากบั้งไฟแล้ว ยังมีการทำพลุ พะเนียง ดอกไม้ไฟ ตะไล (เพื่อจุดในการแห่ร่วมด้วย) นอกจากนั้นตัวบั้งไฟยังต้องมีการประดับตกแต่งอย่างสวยงามเรียกว่า การเอ้ ซึ่งก็เป็นฝีมือของพระอีกเช่นกัน
        เมื่อการเตรียมการในการต้อนรับ การทำบั้งไฟ การเอ้บั้งไฟให้สวยงาม เตรียมขบวนฟ้อนในวันแห่โฮมบุญ ทำนั่งร้านสำหรับการนำบั้งไฟขึ้นจุด แล้วก็จะถึงวันงานซึ่งมีพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องอีกดังนี้
         * ในวันสุกดิบ ชาวบ้านจะจัดขบวนแห่บั้งไฟไปยังศาลปู่ตาของหมู่บ้าน พร้อมนำเอาเหล้าไปด้วยจำนวนมาก ส่วนหนึ่งใช้เซ่นสรวง มีการจุดบั้งไฟขนาดเล็กเรียก "บั้งเสี่ยง " เพื่อเสี่ยงทายดูถึงความอุดมสมบูรณ์และความสำเร็จในการทำนาปีนั้น จากนั้นก็ดื่มเหล้าฟ้อนรำรอบศาลปู่ตาเป็นที่สนุกสนาน (งานนี้มีเฉพาะผู้ชายที่ได้รับอนุญาตให้ร่วมพิธี)
         * จากนั้นก็พากันแห่บั้งไฟไปยังสถานที่จัดงานหรือหมู่บ้านเรียก วันโฮม (รวม) มีการเซิ้งออกท่าทางต่างๆ ของการร่วมเพศอยู่ด้วย อาจมีการเอา บักแบ้น ผูกรอบเอวไว้หลายอัน มีสายสำหรับชักให้กระดกขึ้นได้
        * การแห่บั้งไฟ ผู้ร่วมขบวนนั้นดูเหมือนจะตั้งใจละเมิดกฎเกณฑ์ปรกติ เช่น ชายแต่งกายเป็นหญิง หรือเอาโคลนพอกหน้า ขบวนเซิ้งจะแห่ไปตามหมู่บ้านเพื่อขอสาโทมากิน การเซิ้งจะมีคนจ่ายกาพย์ และคนตีกลองให้จังหวะเซิ้ง อยู่กลางขบวนฟ้อน เพื่อให้ผู้ฟ้อนเซิ้งได้ยินเสียงจังหวะและคำกลอนลำกาพย์เซิ้งได้ชัดเจน
        การละเมิดกฎเกณฑ์และธรรมเนียมปฏิบัติกันทั่วไปมีคำอธิบายได้ว่า เป็นการปลดปล่อยคนให้หลุดจากกฎเกณฑ์ชั่วคราว ในอีสานสมัยก่อนผู้ชายเมื่อแต่งงานต้องเข้าไปอยู่กับครอบครัวฝ่ายหญิง ผู้ชายจึงอยู่ในฐานะที่โดดเดี่ยวต้องอยู่ในความควบคุมของญาติฝ่ายหญิงและต้องฝากอนาคตของตนไว้กับความเมตตาของครอบครัวฝ่ายหญิงด้วย เพราะจะสามารถสร้างหลักให้แก่ครอบครัวได้ก็ด้วยการอุปถัมภ์ของพ่อตา เขยจะถูกจัดให้เป็นผู้ด้อยกว่าในทางพิธีกรรม (แสดงสะท้อนในเชิงประชดประชันจากนิทาน "พ่อเฒ่ากับลูกเขย") ดังนั้น การที่แสดงออกในทางพิธีกรรมในบุญบั้งไฟจึงเป็นการปลดปล่อยจากกฎเกณฑ์ของสังคม เพราะเรื่องเพศ การกล่าวถึงหรือแสดงอวัยวะเพศ เป็นความหยาบโลนที่สังคมปรกติไม่ยอมรับ
        ตอนบ่าย จะมีการตีกลองโฮม เพื่อให้ขบวนแห่ทุกขบวนไปรวมกันที่วัด ซึ่งจะหมายถึงการไปร่วมในพิธีบวชของบุตรหลาน หรือการฮดสงฆ์ ถ้ามีการบวชก็จะมีการแห่นาคด้วยม้า (ถ้าหากเจ้าภาพมีฐานะพอทำได้) มีการจุดตะไลตามหลังม้าไปตลอดทาง หากมีการฮดสงฆ์อยู่ด้วยก็จะแห่พระภิกษุที่ต้องการ "ฮด" นำหน้าเจ้านาคไป
        กลางคืนจะมี การเส็งกลอง หรือแข่งตีกลองกัน โดยแต่ละหมู่บ้านจะนำกลองกิ่งของวัดในหมู่บ้านตนมาตีแข่ง ถือกันว่าถ้าหากแพ้ในการเส็งกลอง ก็จะไม่ใช้กลองนั้นอีกเลย จะต้องไปเสาะแสวงหากลองมาเส็งใหม่ในปีหน้า การเส็งกลองจะมีกันไปจนถึงเที่ยงคืน
        รุ่งเช้าจะมีการทำบุญถวายจังหันพระ พอตกบ่ายก็มีการแห่บั้งไฟไปยังค้างที่เตรียมไว้ อาจใช้ต้นไม้ใหญ่เป็นค้างก็ได้ การแข่งขันระหว่างหมู่บ้านก็มีเพียงบ้านใดจะสามารถยิงไปได้สูงกว่ากัน (ใช้การนับไปจนกว่าจะมองเห็นบั้งไฟหล่นพ้นก้อนเมฆลงมา) เป็นการแสดงความสามารถของช่างหรือฉบับของบั้งไฟบ้านนั้น หากบั้งไฟบ้านใดซุ (พ่นดินปืนออกมาแต่ไม่ขึ้น) หรือแตกระหว่างการจุด ช่างหรือฉบับก็จะถูกจับโยนลงตม คือโยนลงไปในโคลนเป็นที่สนุกสนานทั้งผู้โยนและถูกโยน (เปื้อนโคลนพอกัน)
        หมายเหตุ ในอดีตเราจะได้ยินว่าหมู่บ้านนั้นหมู่บ้านนี้ทำบั้งไฟหมื่นขึ้นสุดลูกหูลูกตา คำว่า หมื่น มาจากจำนวนน้ำหนักของดินประสิวที่ใช้ทำ ดินหมื่น คือ 12 กิโลกรัม (ไม่นับรวมน้ำหนักของถ่านซึ่งเป็นส่วนผสม) จะบรรจุในลำไม่ไผ่ขนาดยาวประมาณ 3 เมตร ต่อมาหมู่บ้านใดทำบั้งไฟแสนคือ 120 กิโลกรัมดินประสิว (ใช้ลำตาลแทนไม้ไผ่ ใช้เทคนิคมัดพันลำตาลอย่างแน่นหนา) ก็ถือว่ายิ่งใหญ่ที่สุดแล้ว ในปัจจุบันมีข่าวว่าบางแห่งมีบั้งไฟล้าน (ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจะจริงถ้าไม่นับน้ำหนักของท่อเหล็กและหางรวมกันกับดินประสิว) กันบ้างแล้ว ไม่ทราบว่าจุดขึ้นพ้นพื้นดินเพียงใด ผู้เขียนหลับตานึกถึงภาพหากมีการระเบิดเกิดขึ้นจะเป็นอย่างไรหนอ ไม่อยากจะบรรยายครับ

        สิ่งที่เล่ามาทั้งหมดนี้เป็นเรื่องราวในอดีต ปัจจุบันงานประเพณียังคงอยู่ แต่ความเชื่อและวัฒนธรรมของงานบุญหายไป กลายไปเป็นการประกวดประชันกัน การวางเดิมพันเงินแสนเงินหมื่น ไม่มีการพูดถึงดอนปู่ตาหรือผีบรรพบุรุษอีกแล้ว เพราะทุกอย่างจัดเพื่อการท่องเที่ยวอย่างบุญบั้งไฟเมืองยโสธรคือตัวอย่าง (ไม่ทราบว่าอ้างเพื่อธุรกิจหรือไม่) น่าเสียดายที่ความงามในฮีตเริ่มจะเลือนหายไปจากอีสาน กลายเป็นตำนานให้กล่าวถึงเพียงเท่านั้น


 การเอ้บั้งไฟ


         เมื่อเอารูเสร็จแล้วก็ใส่หาง ใส่โหวดรอบตัวบั้งไฟ ตัดกระดาษปิดเป็นสีเป็นรูปต่างๆ ประดับให้สวยงาม การประดับบั้งไฟเขาเรียกว่า"เอ้บั้งไฟ"
         การประดับมีการประกวดความสวยงามด้วย ถ้าบั้งไฟเล็กก็แบกหางไป ถ้าบั้งไฟใหญ็ใส่ล้อเกวียนหรือเกวียนที่ประดับไว้สวยงาม ปัจจุบันใช้รถแทนเกวียน

การเซิ้งบั้งไฟ


         การเซิ้งบั้งไฟ เป็นการขับร้องเป็นกาพย์ เป็นกลอน ประกอบ เครื่องดนตรี พวกกลอง แคน ฉิ่ง เป็นหมู่คณะเพื่อความสนุกสนาน
         ก. พวกเซิ้งธรรมะ เป็นพวกที่เรียบร้อย เป็นคณะและมีผู้กล่าวนำ มีการฟ้อนแบบต่างๆ ตามที่หัวหน้าคณะจะสั่ง กาพย์เซิ้งก็เป็นคติธรรมสอนใจไปด้วย
         ข. พวกเซิ้งกินเหล้า เป็นพวกคอสุรา ไม่มีขบวน จับกลุ่มกันเล่นเซิ้งไม่เป็นระเบียบกาพย์ก็ตลกโปกฮา ทั้งคำสุภาพ คำหยาบ (แต่เขาไม่ถือว่าเสียหาย)
         ค. พวกเซิ้งขอเงิน เป็นพวกที่ไม่อยู่ในอันดับ คือไม่มีบท ไม่มีทำนอง กลุ่มละ 4 - 5 คน ตีกลอง ตีปี๊บเคาะไม้แล้วแต่นึกออก พวกหลังนี้เล่นเพื่อขอเงินเท่านั้นเอง เพราะประเพณีนี้มีการเซิ้งขอสุรา ขอขนม ขอเงินซื้อสุรา ก็เลยตั้งคณะขึ้นขอบ้าง ส่วนมากเป็นพวกวัยรุ่นและเด็กเล็ก
         ตัวอย่างบทเซิ้ง ที่เป็นบทตลก น่าสนใจ
         แม่เถ้าเอ้ยลุกเขยมาแล้ว แม่เถ้าแก้วไปลี้อยู่ใส
         อยู่คีไฟตาเหลี่ยมเม้าๆ ข้อยมาเว้าแม่เถ้าอย่าหนี


 ขบวนประกวดบั้งไฟและการจุดบั้งไฟ


         ขบวนประกวดบั้งไฟซึ่งถูกตกแต่งอย่างสวยงาม ซึ่งถ้าพูดถึงงานประเพณีบุญบั้งไฟที่ยิ่งใหญ่ ก็ต้องนึกถึงจังหวัดยโสธร เพราะเป็นจังหวัดที่มีการจัดงานบุญบั้งไฟสืบทอดกันมาช้านาน และมีการจุดบั้งไฟแข่งขันกันเป็นงานใหญ่ ตั้งแต่ยังเป็นอำเภอที่ขึ้นอยู่กับจังหวัดอุบลราชธานี จนในปี พ.ศ. 2515 ยโสธรแยกออกมาตั้งเป็นจังหวัดที่ 72 ของประเทศไทย คนเมืองยศก็จึงยิ่งจัดให้ยิ่งใหญ่มโหฬารขึ้น จนถือเป็นงานประเพณีระดับชาติ และมีการกำหนดจัดเป็นประจำในวันศุกร์ - เสาร์ - อาทิตย์ ที่ 2 ของเดือนพฤษภาคมของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงก่อนฤดูการทำนา เพราะกว่าร้อยละ 85 ของประชากรในจังหวัดเป็นเกษตรกร ที่ต้องอาศัยน้ำในการทำการเกษตร


         ความพิเศษของงานบั้งไฟที่ยิ่งใหญ่ของชาวยโสธรนี้ ไม่เพียงแต่โด่งดังในเมืองไทยเท่านั้น แต่ยังโด่งดังไกลไปถึงชาวเมืองโยชิดะ จังหวัดไซตามะ ประเทศญี่ปุ่น ที่ประชากรส่วนหนึ่งยังคงมีอาชีพทำนา และมีประเพณีการจุดบั้งไฟ คล้ายกับจังหวัดยโสธร แต่ในความคล้ายก็มีความต่าง เพราะการจุดบั้งไฟของชาวโยชิดะเป็นไปเพื่อการอวยพรและขอบคุณพระเจ้าที่บันดาลให้ฝนตก และบั้งไฟของเขาจะเน้นการตกแต่งที่ความสวยงามมากกว่า การขึ้นของบั้งไฟจึงไม่สูงนัก ส่วนขบวนแห่ก็จะเรียบง่ายสนุกสนานน้อยกว่าการฟ้อนเซิ้งของชาวยโสธร และประเพณีนี้ทำในเดือนตุลาคมทุกปี


         จากความบังเอิญที่มีความเหมือนในประเพณี จึงมีการพัฒนาไปสู่การศึกษาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมเป็นเมืองคู่มิตร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 จนกระทั่งได้มีการทำความตกลงระหว่างโยชิดะและยโสธร ให้เป็นเมืองคู่แฝด เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2542 โดยทุกปีชาวเมืองโยชิดะ จะส่งบั้งไฟแฟนซีประเภทสวยงามมาร่วมจุดด้วย นอกจากจะเป็นการแลกเปลี่ยนทางศิลปวัฒนธรรมและส่งเสริมการท่องเที่ยวแล้ว ในอนาคตยังอาจจะนำไปสู่การส่งเสริมด้านการศึกษาและความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจต่อไปด้วย


         แม้แต่ชาวต่างประเทศยังสนใจวิธีการทำบั้งไฟของช่างบั้งไฟ บั้งไฟมีหลายชนิด แต่ที่ยโสธรมีการแข่งขันบั้งไฟแฟนซีและบั้งไฟแสน โดยบั้งไฟแฟนซีเป็นบั้งไฟขนาดเล็ก มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 นิ้ว และบรรจุดินประสิวไม่เกิน 4 กก. แข่งขันกันที่ความสวยงามและลีลาลูกเล่นเมื่อจุดขึ้นฟ้า เช่นอาจจะมีร่มหลากสีสันกางออก หรือมีเสียงประกอบ ส่วนบั้งไฟแสนซึ่งเป็นบั้งไฟที่แข่งขันกันโดยนับจากเวลาที่บั้งไฟขึ้น บั้งไฟของใครขึ้นนานที่สุดก็เท่ากับว่าบั้งไฟขึ้นสูงที่สุด (ระดับที่เป็นแชมป์บั้งไฟจะขึ้นนานกว่า 2 นาที) บั้งไฟแสนจึงต้องมีขนาดใหญ่ ความยาว 4 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 6 นิ้ว และบรรจุดินประสิวหนัก 120 กก. นับเป็นบั้งไฟที่ทำยาก และต้องอาศัยความชำนาญเป็นพิเศษ เพราะถ้าบั้งไฟนี้แตกแล้วจะเป็นอันตรายมาก เพราะฉะนั้นก่อนทำ "ช่างบั้งไฟ" ซึ่งเป็นผู้ทำบั้งไฟจะต้องมีพิธีกรรมบวงสรวงให้ถูกต้องตามหลักการทำบั้งไฟแสนเสียก่อนจึงจะลงมือทำ ในช่วงที่มีการจุดบั้งไฟนั้นนับเป็นช่วงตื่นเต้นและสนุกสนาน โดยเฉพาะช่างบั้งไฟจะต้องลุ้นมากกว่าใคร เพราะหากบั้งไฟไม่ขึ้นก็จะถูกโยนลงบ่อโคลนนัยว่าเพื่อเป็นการลงโทษ แต่ปัจจุบันนั้น ไม่ว่าบั้งไฟจะขึ้นหรือไม่ขึ้นก็จะมีการโยนโคลน เพื่อความสนุกสนานมากกว่า